Categories
Uncategorized

ก.ล.ต. เตรียมกำกับดูแล NFT

“NFT” หรือ Non-Fungible Token เป็นหนึ่งในประเภทของสินทรัพย์ดิจิตอล ที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก ไม่สามารถทำซ้ำได้ อีกทั้งเรายังสามารถซื้อขาย แลกเปลี่ยน รวมถึงเป็นเจ้าของNFT ชิ้นนั้นได้ ผ่านการซื้อขายบน NFT Marketplace

ด้วยความพิเศษของสินทรัพย์ชนิดนี้ ทำให้ NFT ได้รับความนิยมจากผู้ที่สนใจสะสมผลงานและต้องการลงทุนจำนวนมาก ทำให้ NFT มีอัตราการซื้อขายที่เติบโตอย่างรวดเร็วในไทย ดังนั้น เพื่อความชัดเจนในการประกอบธุรกิจและการซื้อขาย NFT ทาง ก.ล.ต. จึงได้ออกแนวทางการกำกับดูแล NFT โดยเฉพาะ

NFT (Non-Fungible Token) คืออะไร?

NFT ย่อมาจาก “Non-Fungible Token” เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยี Blockchain โดย NFT มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากโทเคนดิจิทัลอื่น คือ NFT มีเพียงชิ้นเดียว และแต่ละโทเคนดิจิทัลมีคุณค่าพิเศษของตน ไม่สามารถทำซ้ำขึ้นมาเพื่อให้มีคุณค่าเท่ากันได้อีก ซึ่งจะแตกต่างจาก Fungible Token เช่น Bitcoin ที่ทุกเหรียญมีมูลค่าเท่ากัน และสามารถมีจำนวนมากกว่าหนึ่งได้

นอกจากนี้ คนทั่วไปก็สามารถเป็นเจ้าของงาน NFT ได้ จึงทำให้ NFT ได้รับความนิยมจากนักสะสมชาวไทยจำนวนมาก เพราะเราสามารถซื้อเพื่อสะสม ใช้งาน หรือเก็งกำไรได้นั่นเอง

รู้หรือไม่? NFT ไม่ได้มีเพียงผลงานศิลปะเท่านั้น

หลายคนอาจจะคิดว่าผลงาน NFT ที่เราเห็นว่ามีการซื้อ-ขาย หรือประมูลนั้น มีเพียงผลงานศิลปะ หรือ Digital Art เท่านั้น แต่ความจริงแล้ว NFT อาจถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับผลงานได้หลากหลายประเภทและรูปแบบด้วยกัน โดยสามารถใช้ได้สำหรับของทุกสิ่งที่ต้องการความแตกต่างมีชิ้นเดียวในโลก และที่สามารถพิสูจน์ความเป็นเจ้าของได้ ไม่ว่าจะเป็น NFT ในรูปแบบของผลงานเพลง ไอเทมและตัวละครใน GameFi ของสะสมเกี่ยวกับศิลปิน กรรมสิทธิ์ที่ดินใน Sandbox เป็นต้น โดยเราสามารถศึกษาประเภทของผลงาน NFT ที่สนใจ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการลงทุนได้

สินทรัพย์ดิจิทัล 3 ประเภท ที่อยู่ภายใต้ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ

พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) ระบุว่า สินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ภายใต้กำกับ พ.ร.ก.นั้นแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  1. คริปโทเคอร์เรนซี (CryptoCurrency) เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีคุณสมบัติอย่างเดียวคือ เป็นสื่อกลางในการชำระเงิน ตัวอย่างเช่น BTC / ETH เป็นต้น
  2. โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) เป็นโทเคนดิจิทัลที่ผู้ที่ถือโทเคนจะมีสิทธิเข้าร่วมลงทุนในโครงการต่างๆ เช่น ได้ส่วนแบ่งจากผลกำไรหรือผลตอบแทนของโครงการ ตัวอย่างในไทย เช่น SiriToken เป็นต้น
  3. โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) เป็นโทเคนดิจิทัลที่ผู้ที่ถือโทเคนสามารถนำโทเคนนั้นมาใช้เพื่อแลกสินค้า / บริการ หรือสิทธิเฉพาะเจาะจงได้ ตัวอย่างในไทย เช่น PopCoin ที่สามารถนำโทเคนมาแลกสินค้า และสิทธิเข้าร่วมกิจกรรมที่กำหนดได้

ผู้ที่จะประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องได้รับการอนุญาตจากก.ล.ต.ก่อน

สำหรับผู้ที่ต้องการเปิดให้บริการตัวกลางในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น เปิด Exchange คือเป็นผู้จัดทำแพลตฟอร์มการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือเป็น Broker คือนายหน้าในการวางคำสั่งแทนลูกค้า หรือ Advisory คือที่ปรึกษาการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น ล้วนแต่ตัองได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. ก่อนทั้งหมด

นอกจากธุรกิจตัวกลางแล้ว หากมีผู้สนใจประกอบธุรกิจเป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการแก่ผู้สนใจออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัล (Initial Coin Offering) ไม่ว่าจะเป็น Investment Token / Utility Token ในการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลดังกล่าวให้แก่ บุคคลทั่วไป ผู้ประกอบธุรกิจนั้นจะมีฐานะ ICO Portal และต้องได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. ก่อนจึงจะสามารถประกอบธุรกิจดังกล่าวได้ 

สุดท้ายนี้ ถ้าบุคคลไหนต้องการทำ ICO และเสนอขายโทเคนดิจิทัล ถ้าโทเคนดิจิทัลดังกล่าวไม่มีลักษณะ ‘พร้อมใช้’ ในวันที่ออกและเสนอขายครั้งแรก บุคคลนั้นก็ต้องนำ whitepaper หรือแผนการออกโทเคนดิจิทัลดังกล่าวไปเสนอผ่าน ICO Portal และต้องขออนุญาตจาก ก.ล.ต. ก่อนเช่นกัน

NFT ประเภทไหนบ้าง? ที่อยู่ภายใต้ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ

ถ้าพิจารณาจากคุณสมบัติของ NFT แล้ว จะเห็นว่า NFT ก็มีลักษณะเป็นโทเคนดิจิทัลประเภทหนึ่ง ดังนั้นเพื่อความชัดเจนในการตีความ ก.ล.ต. จึงกำหนดว่า NFT จะต้องมีลักษณะแบบไหน? ถึงจะเป็นโทเคนดิจิทัลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. และพ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล

NFT ที่มีการกำหนดสิทธิให้ผู้ถือสามารถนำโทเคนดิจิทัลไปใช้เพื่อแลกสิทธิอื่นอีกขั้นหนึ่ง ถือเป็น “โทเคนดิจิทัลภายใต้กำกับดูแลของ ก.ล.ต.” เนื่องจากมีลักษณะเป็นโทเคนดิจิทัลที่ผู้ถือจะได้รับสินค้า / บริการ / สิทธิเฉพาะเจาะจงตามนิยาม

ตัวอย่างของ NFT ดังกล่าวได้แก่

  • NFT ที่ให้กรรมสิทธิ์แก่ผู้ถือเหนืองานศิลปะที่เป็น physical ของศิลปินชื่อดัง ที่อาจมีการจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ ผู้ที่ถือ NFT นี้จะได้รับสิทธิการยืนยันว่า เป็นผู้กรรมสิทธิ์เหนืองานศิลปะนั้น และสามารถทำการซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยน NFT ได้อย่างสะดวกสบาย โดยไม่จำเป็นต้องมีการส่งมอบภาพที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์นั้นให้กับผู้ที่ถือครองอยู่ แต่หากผู้ถือตัองการภาพจริง ผู้ถือต้องนำ NFT นั้นไปแลกเพื่อรับภาพจริงอีกครั้ง ดังนั้นการโอน NFT จึงไม่ใช่การโอนผลงานศิลปะ physical นั้นโดยตรง
  • NFT ที่เป็น Collectible Card ที่มีการกำหนดเงื่อนไขว่า หากสะสมได้ครบตามเงื่อนไข ผู้ที่ถือโทเคนดิจิตอลจะสามารถนำไปแลกเป็นสิทธิเข้างาน Exclusive Meet & Greet ของศิลปินที่สร้างผลงานนี้ในอนาคตได้

NFT ที่ไม่เป็นโทเคนดิจิตอล และไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ

กรณี NFT ที่มีการแปลงทรัพย์สินในรูปแบบ digital / electronic ให้เป็นโทเคนดิจิทัลโดยตรง ดังนั้น ทุกครั้งที่มีการซื้อ-ขาย NFT นั้น จะเท่ากับเป็นซื้อขายทรัพย์สินนั้นโดยตรง โดยไม่ต้องนำเอาโทเคนดิจิทัลนั้นไปแลกสิทธิใดอีก NFT ในกรณีดังกล่าว ไม่ถือเป็นโทเคนดิจิทัล ถือเป็นทรัพย์สินประเภทหนึ่งเท่านั้น ไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ เช่นกัน เนื่องจากไม่ถือเป็นหนึ่งใน 3 ประเภทของสินทรัพย์ดิจิทัล

ตัวอย่าง NFT ประเภทนี้ ได้แก่ ภาพของศิลปิน หรือเพลง หรือทรัพย์สินใดก็ตามที่อยู่ในรูปแบบ digital ที่มีการแปลงให้กลายเป็นงาน NFT ด้วยเทคนิคต่าง ๆ โดยตรง

การประกอบธุรกิจเกี่ยวกับ NFT มีอะไรบ้าง?

กรณีที่ NFT เป็นโทเคนดิจิทัล

  • การออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัล แม้เป็น NFT ดังกล่าวให้แก่บุคคลเป็นการทั่วไปนั้น หาก NFT นั้นให้สิทธิที่พร้อมให้มาใช้แลกเปลี่ยนในวันที่ออกทันที ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการผ่าน ICO Portal ผู้ออกจะได้รับยกเว้นการขออนุญาตจาก ก.ล.ต. แต่หากเป็นสิทธิที่จะใช้ได้ในอนาคตต้อง ดำเนินการผ่าน ICO Portal ก่อนการขออนุญาตจาก ก.ล.ต.
  • สำหรับการซื้อขายแลกเปลี่ยนNFT ประเภทนี้ในตลาดรอง ปัจจุบัน NFT ต้องห้าม ไม่ให้ซื้อขายผ่าน Exchange ที่ได้รับอนุญาตในประเทศไทย (ตามประกาศ กธ. 18/2564) ดังนั้นอาจตีความการทำ Marketplace สำหรับ NFT ประเภทนี้ไม่สามารถดำเนินการได้

กรณีที่ NFT ที่ไม่ใช่โทเคนดิจิตอล

  • สำหรับ NFT ประเภทนี้ เมื่อไม่อยู่ภายใต้กำกับ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ เราจึงสามารถเสนอขายผลงานได้โดยตรง ไม่ต้องขออนุญาตจากก.ล.ต. เหมือนกับ NFT เป็นโทเคนดิจิทัล

ภาพจาก: สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

อ้างอิงข้อมูลจาก: สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)